โรงพยาบาลคลองลาน

 

การเขียน CLINICAL TRACER อย่างเข้าใจ 

• เป็นการเล่ากระบวนการ หรือระบบการดูแลผู้ป่วย โรคใดโรคหนึ่งหรือหัตถการหรือกระบวนการทำงานใดก็ได้ โดยเล่าสรุปกระบวนการคุณภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมดว่าได้ทำอะไรไปบ้าง แต่ถ้าเป็นกระบวนการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยก็เขียนเป็น Tracer ได้เหมือนกันแต่ควรตัดคำว่า Clinical ออกไป เช่น “ Tracer กระบวนการ STERILE เครื่องมือที่แผนกจ่ายกลาง ” หรือ “ Tracer การผลิตอาหารเบาหวาน หน่วยงานโภชนากร ” เป็นต้น


• ส่วนแนวทางการเขียน แต่ละส่วน (โดยเฉพาะข้อ 4 กระบวนการเพื่อให้ได้คุณภาพ) ต้องเขียนแบบย่อสรุปใจความที่สำคัญ อาจจะสรุปกระบวนการคุณภาพ แต่ละกระบวนการเช่น CPG , CQI , คู่มือปฏิบัติต่าง ๆ ให้เหลือเรื่องละไม่เกิน 3-4 บรรทัดในแต่ละกระบวนการคุณภาพทุกขั้นตอน โดยสื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพงานคุณภาพต่าง ๆ ที่ได้ทำ (โดยเฉพาะการป้องกันหรือลดความเสี่ยง)


• การเล่าเรื่องเหมือนเป็นสื่อกระบวนการคุณภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ ถ้าเป็นการดูแลผู้ป่วย อาจเขียนกระบวนการได้หลายแบบ เช่น การใช้จุดบริการเป็นหลัก ก็จะเป็น กระบวนการดูแลผู้ป่วยที่ OPD , ER , IPD , การดูแลต่อเนื่องที่ชุมชน ( Clinical Tracer ที่สมบูรณ์น่าจะไม่ลืมเขียนการบวนการดูแลต่อเนื่องที่ชุมชน หรือการติดตามการดูแลต่อเนื่องด้วย (โดยที่ต้องนึกเสมอว่าผู้อ่านอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ) ฉะนั้นคำที่ใช้ต้องไม่เป็น Technical Term มากเกินไป ส่วนเนื้อหาสาระรายละเอียดกระบวนการที่สำคัญต่าง ๆ เช่น CPG , CQI , นวัตกรรม , คู่มือปฏิบัติต่าง ๆ , Evidence Base แต่ละเรื่องก็ต้องเก็บเนื้อหาเต็มรูปแบบเพื่อการปฏิบัติและพัฒนาต่อไป


จุดประสงค์ของ CLINICAL TRACER 
- ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนั้น ๆ หรือกระบวนการทำงานนั้น ๆ 
- เกิดการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เพราะพอเริ่มเขียน Tracer ก็มักจะมองเห็นว่ายังมีกระบวนการคุณภาพอะไร ที่ยังขาดไปและจำเป็นต้องทำเพิ่มเติม เช่น น่าจะมี CPG เรื่องนั้น เรื่องนี้ที่ ER , น่าจะมีการเก็ยตัวชี้วัดเพิ่มเติมเพื่อนำไปพัฒนาเป็น CQI 
- มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ พัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพราะการทำ Tracer ต้องทำเป็นทีม ไม่ใช่เขียนคนเดียว มักทำให้ทีมมองเห็นโอกาสพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น รวมทั้งนวัตกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น 
- สามารถแสดงผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะข้อ 3 เครื่องชี้วัดสำคัญและการใช้ประโยชน์ ต้องแสดงเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น 
- มองเห็นโอกาสพัฒนาในส่วนที่ยังไม่ได้ทำ หรือคิดว่าน่าจะทำ เพราะพอเขียน Clinical Tracer ทำให้เรามองเห็นว่าต้องทำอะไรเพิ่มเติมจึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการดูแลผู้ป่วย 
- สื่อสาร , ถ่ายทอดกระบวนการการดูแลผู้ป่วยโรคดังกล่าวให้เห็นคุณภาพของการดูแลทุกขั้นตอน อย่างกระทัดลัด แต่ถ้าต้องการดูรายละเอียดก็ต้องมีให้ดูทุกเรื่องเหมือนกัน 


จะมีวิธีเลือกเรื่องที่จะทำ Clinical Tracer อย่างไร 
1. เรื่องที่ทำต้องเป็นเรื่องที่ทีมงานให้ความสำคัญ เช่น เป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง , เป็นโรคที่พบบ่อย , เป็นโรคที่เป็นปัญหาระดับโรงพยาบาล เป็นต้น 
2. ถ้าเริ่มทำ Clinical Tracer ใหม่ ๆ (เรื่องแรก) น่าจะเลือกทำโรคที่พัฒนาการดูแลได้ดีแล้วระดับนึงก่อน เช่น มี CQI , มีการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยที่ดีพอสมควรก่อน จะเขียนได้เข้าใจง่ายกว่า และไม่ท้อแท้ เพราะสามารถเล่าสิ่งดี ๆ ที่เราทำ จะเล่าได้ง่ายกว่า 
3. เรื่องต่อ ๆ ไป ค่อย เอาเรื่องที่ท้าทาย เช่น เป็นโรคฉุกเฉิน , โรคเรื้อรังซับซ้อน โรคที่ยังเกิดผลลัพธ์ในการรักษาที่ไม่ดี เพราะพอเริ่มวางแผนที่จะทำก็จะเห็นโอกาสพัฒนาที่จุดต่าง ๆ มากมาย เหมือนเป็นการ Plot เรื่อง แล้วไปกำกับการแสดงตามที่ Plot ไว้ ติดตามผลลัพธ์ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ครอบคลุมความเสี่ยง ณ จุดให้บริการมากขึ้น 

ปัญหาที่พบบ่อย 
• ไม่รู้จะเริ่มเขียนอย่างไร (อย่ายึดติดรูปแบบ) 
• เขียนดีแต่ไม่ได้ทำจริง คนทำไม่ได้เขียน คนเขียนไม่ได้ทำ (ต้องทำและเขียนกันทั้งทีม ทุกจุดที่ดูแลให้บริการ) 
• เขียนพื้น ๆ ไม่มี CQI ,นวัตกรรม , พัฒนารูปแบบต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วย ทำให้ไม่เห็นคุณภาพที่ชัดเจน 
• เริ่มเขียนเรื่องยาก ซับซ้อน ผลลัพธ์ยังไม่ดี ทำให้ทีมงานท้อแท้ได้ 
• ปัญหาเรื่องการเก็บตัวชี้วัด เช่น 1)ไม่มีการเก็บตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีการติดตามผลก็จะเหมือน Tracer ที่ตายสนิทไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ Clinical Tracer 2) เรื่องที่เริ่มทำ ยังไม่มีตัวชี้วัดจะเขียนอย่างไรดี ถ้าเริ่มเขียน Tracer จะรู้ว่าประเด็นไหน ควรจะเก็บตัวชี้วัดอะไรบ้าง ก็เขียนมาก่อนว่าจะเก็บตัวชี้วัดอะไรโดย Blank ผลลัพธ์ไว้ก่อน ข้อมูลผลลัพธ์จะออกตามมาทีหลัง 4-6 เดือนต่อมาก็คงไม่เป็นไรค่อยเติมทีหลัง 3) บางหน่วยงานต้องเก็บตัวชี้วัดจาก Clinical Tracer มาก ยกตัวอย่างเช่น ER โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีหลาย PCT ทีม ER ต้องเก็บตัวชี้ Clinic Tracer หลายตัวมากให้กับทุก PCT เพราะเกือบทุก Tracer ต้องมีการให้บริการที่ ER ซึ่งเป็นภาระมากในการเก็บ เรื่องนี้คงเป็นปัญหาของ ER , OPD เกือบทุกที่ คงต้องเลือกตัวที่สำคัญ เก็บง่าย ไม่เป็นภาระมาก เรื่องนี้ต้องแล้วแต่ Tactic ของแต่ละที่ครับ แต่น่าเห็นใจจริง ๆ 
• เขียนทีเดียวแล้วหยุดพัฒนา ควรต้องมีติดตามผลลัพธ์ ตัวชี้วัด มีการปรับปรุง พัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่อง และควร (Revise) บ่อย ๆ ทุก ๆ 4-6 เดือน Version ใหม่ขึ้น จะเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ 


Healing environment
Sed lacus. Donec lectus. Nullam pretium nibh ut turpis. Nam bibendum. In คนเราเมื่ออยู่ในภาวะคับขัน ย่อมต้องการใครสักคน หรือสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นที่พึ่ง  คนเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องมาโรงพยาบาลก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องการที่พึ่งทั้งคน  บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ   สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา เป็นเรื่องที่โรงพยาบาลที่พัฒนาคุณภาพให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมีผลต่อความปลอดภัยของคนไข้ ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้และผู้ให้การดูแลรักษา เกิดบรรยากาศแห่งความสุขในโรงพยาบาล

คนไข้ต้องการญาติอยู่ใกล้ชิด

คนไข้ทุกคนย่อมต้องการญาติ เพื่อนหรือคนที่เขาไว้วางใจอยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งปกติเป็นคนที่ต้องพึ่งพาคนอื่น

การอนุญาตให้พ่อแม่หรือญาติอยู่กับเด็ก เป็นการเยียวยาเด็กที่สุดวิเศษ ผมเคยมีประสบการณ์เมื่อจบแพทย์ใหม่ๆ เด็กหญิงคนหนึ่งขาหักที่รับไว้ในโรงพยาบาล ร้องแต่คำว่า "หาแม่" ทั้งคืน แม้หมอและพยาบาลจะทำทุกวิถีทางทั้งปลอบและขู่เด็กก็ไม่ยอมนอน ปัจจุบันโรงพยาบาลที่แม้จะมีคนไข้มากจนแออัด ยังจัดที่ให้ญาติได้เฝ้าเด็กหนึ่งคน บางโรงพยาบาลอนุญาตให้แม่ขึ้นไปนอนกับลูกบนเตียงเดียวกัน การกอดของแม่เป็นการเยียวยาที่วิเศษ

แม้เด็กคลอดก่อนกำหนดที่ต้องอยู่ในตู้อบ หรือเด็กป่วยหนักในห้องไอซียู พบว่าการให้ญาติดูแลใกล้ชิด หรือแม่เข้าไปให้นมลูก มีผลดีมากกว่าผลเสีย
ผู้สูงอายุที่ขาดญาติ การฟื้นฟูสภาพจะช้ากว่าคนที่ญาติช่วยดูแล คนไข้สูงอายุที่อยู่โรงพยาบาลคนเดียวนานๆ สุขภาพจิตจะเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเปลี่ยนไป บางครั้งซึมเศร้า บางครั้งดื้อรั้น  การให้ยากล่อมจิตประสาท บางครั้งทำให้คนไข้อาการทรุดลง


พฤติกรรม บริการและบรรยากาศ

คำพูด สีหน้า ท่าทาง ที่เป็นมิตรและเอื้ออารี การจัดบรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งแวดล้อมที่สร้างความสุขสดชื่นทั้งแสง สี เสียง และกลิ่น เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่พึงคำนึงการจัดแสงสว่างที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมของคนไข้ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ บางครั้งแสงไฟที่เพดานรบกวนการนอนของคนไข้ แต่ถ้าไฟสว่างไม่พอ แพทย์และพยาบาลทำงานไม่สะดวก หลายโรงพยาบาลเปลี่ยนตำแหน่งหลอดไฟ เพื่อไม่ให้แสงแยงตาและรบกวนการพักผ่อนของคนไข้ และจัดโคมไฟเฉพาะเพื่อการทำหัตถการกับคนไข้

สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึก ควรทาสีอ่อนที่ให้ความรู้สึกสงบเย็น หลีกเลี่ยงสีที่ทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้า บริเวณที่ให้บริการเด็กควรใช้สีสดใส เพื่อดึงดูดและกระตุ้นความสนใจ

ห้องคนไข้หนักที่ทาสีขาวล้วนทั้งฝาและเพดานดูสะอาดตา แต่คนไข้ลืมตาตื่นแล้วพบแต่สีขาวล้วนรอบตัวทั้งกลางวันและกลางคืน มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกกังวล

การติดวอลเปเปอร์หรือรูปภาพ เช่น ภาพคนยิ้ม เด็กหน้าตาน่าเอ็นดู สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก  นกสีสวย ดอกไม้ที่งดงาม วิวธรรมชาติ สายน้ำที่ฉ่ำเย็น ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ ไม่ควรติดภาพงู สัตว์ที่ดุร้าย ภาพทางการแพทย์ที่ดูน่ากลัว เศร้าหดหู่ หรือภาพนามธรรมที่ดูเข้าใจยาก

บางครั้งมีการนำขวดโหลดองเด็กทารกซึ่งเสียชีวิต บางคนพิกลพิการ หรือดองอวัยวะที่เป็นโรค เช่น ตับแข็ง มะเร็งปอด ฝีในเนื้อสมอง แสดงไว้หน้าห้องตรวจโรค โดยมีเจตนาเพื่อให้ความรู้แก่คนไข้และญาติ ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะคนไข้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือป่วยเป็นโรคเดียวกับอวัยวะที่นำมาแสดง หากต้องการนำเสนอเรื่องเหล่านี้ ควรจัดแยกเป็นห้อง เพื่อให้คนที่อยากเรียนรู้เข้าไปศึกษา

การทาสีที่แตกต่างระหว่างพื้นต่างระดับ ขั้นบันได มีผลต่อความปลอดภัย ช่วยให้คนไข้ที่สายตาเลือนรางไม่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม

เสียงในโรงพยาบาลบางครั้งดังและก้องกว่าปกติ เพราะพื้นฝาเพดานมักไม่มีสิ่งดูดซับเสียง  เสียงเดินของเจ้าหน้าที่ เสียงการล้างอุปกรณ์ในเรือนพักคนไข้ รบกวนการนอนหลับพักผ่อนของคนไข้

คนไข้ที่นอนเตียงใกล้ห้องน้ำในห้องคนไข้รวม ที่มีคนเดินเข้าออกห้องน้ำทั้งคืน พบว่าคนไข้นอนหลับไม่เต็มที่ และอาการโรคกำเริบมากขึ้น

เสียงดนตรีที่มีความดังเหมาะสม สร้างบรรยากาศแก่คนไข้ ญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่  โรงพยาบาลบางแห่งจะมีนักดนตรีมาเล่นเปียโน สีไวโอลิน เล่นกีตาร์ หรือบรรเลงดนตรีไทย นักดนตรีบางคนเป็นอาสาสมัครมิขอรับค่าตอบแทน

กลิ่นเป็นเรื่องที่ไวต่อความรู้สึกของคนไข้ บางครั้งกลิ่นน้ำยาต่างๆ ในห้องตรวจโรค ห้องพักคนไข้ ห้องทำแผล ห้องตรวจชันสูตร ที่เจ้าหน้าที่ซึ่งสูดดมทุกวันจนชิน สร้างความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ส่งผลต่อความรู้สึกวิตกกังวลของคนไข้

การปลูกต้นไม้ จัดสวน สนามเด็กเล่น มุมพักผ่อนและนันทนาการ ทำให้โรงพยาบาลสวยงาม ร่มรื่น ร่มเย็น การตกแต่งอาคารด้วยไม้ประดับ นอกจากความสวยงามแล้วยังช่วยดูดซับสารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนไข้ที่มีความต้องการเฉพาะ

การจัดเตียงนอน อุปกรณ์เครื่องใช้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย มีอุปกรณ์ป้องกันเด็กตกเตียง การจัดอุปกรณ์เครื่องใช้ของเล่นที่เหมาะสม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกเรียนรู้การช่วยตนเองในชีวิตประจำวัน

การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก การปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการทุพพลภาพ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การปรับปรุงห้องน้ำให้คนที่ใช้ไม้ค้ำยันหรือรถเข็นผ่านเข้าออกได้สะดวก การปรับเปลี่ยนที่เปิดปิดก๊อกน้ำเป็นแบบก้านปัด ช่วยให้คนไข้ที่มีมืออ่อนแรงสามารถปิดเปิดน้ำได้เอง หรือการทำทางลาดที่ไม่ชันมาก การทำราวสำหรับจับ ช่วยให้คนพิการทุพพลภาพเดินทางได้สะดวกด้วยตนเอง การใช้เสียงบอกเมื่อประตูลิฟต์ปิดเปิด และบอกชั้นที่ลิฟต์กำลังหยุด  ช่วยให้คนสายตาเลือนรางใช้ลิฟต์ได้สะดวกขึ้น

คนไข้ระยะสุดท้าย หลายโรงพยาบาลจัดสถานที่เพื่อให้คนไข้และญาติมีความเป็นส่วนตัว  ให้การดูแลแบบประคับประคอง เพื่อลดความเจ็บปวดและความทุกข์ ให้โอกาสประกอบพิธีการตามวัฒนธรรมและความเชื่อ อำนวยความสะดวกสำหรับคนไข้ที่ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน

จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนอยู่บ้าน

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยเยียวยาที่ดีคือ สิ่งแวดล้อมที่เหมือนบ้านของคนไข้ การอนุญาตให้คนไข้อยู่ใกล้ชิดบุคคลในครอบครัว นำสิ่งของบางอย่างมาจากบ้าน เช่น ตุ๊กตาที่เด็กเคยนอนกอดทุกคืน  ภาพถ่ายที่หัวนอนคนไข้ เทปเพลงที่คนไข้ฟังประจำ

คนไข้หลายคนไหว้พระก่อนนอนทุกคืน บางคนทำบุญตักบาตรทุกเช้า การจัดห้องพระ การจัดสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา การจัดมุมสงบเพื่อทำสมาธิ จัดหาหนังสือและสื่อ เช่น เทปเสียงบรรยายธรรม การนิมนต์พระมาที่โรงพยาบาลให้คนไข้ได้ทำบุญและให้คำปรึกษา มีผลต่อขวัญและกำลังใจ

พฤติกรรมบริการ บรรยากาศ การจัดสัดส่วนอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ภูมิสถาปัตย์ ที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตร เกิดความรู้สึกอบอุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิต สร้างความเชื่อมั่นแก่คนไข้ในยามทุกข์จากโรคภัย เป็นสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่มีคุณค่าต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ

Patient  Safety  Goals  :  SIMPLE

 Patient  Safety   เป็นปัญหา  ปรากฏในรายงานวิชาการและข่าวสารทางสื่อมวลชน
       Patient  Safety   เป็นความท้าทายที่  WHO  ประกาศความสามารถของสมาชิกทั่วโลก
                                (Global Patient  Safety  Challenge)
       Patient  Safety   เป็นความคาดหวังและความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
       Patient  Safety   เป็นปรัชญาที่จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเปิดใจไม่กล่าวโทษ  มุ่งประโยชน์  อนาคต  โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงระบบด้วยความเข้าใจในข้อจำกัดที่เป็นธรรมชาติของคน
       Patient  Safety   มีคำตอบที่ผ่านการทดสอบมาแล้วจำนวนหนึ่ง  ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์  ได้ทันที  
                                (Patient  Safety    Solution - PSS)


       Patient  Safety  Solution 5 หัวข้อ  จะถูกนำไปปฏิบัติและพัฒนาต่อเนื่องในประเทศพัฒนาแล้ว 7 ประเทศ  
ในเวลา 5 ปีข้างหน้าภายในโครงการ High 5s 

       Patient  Safety  Goals – PSG เป็นเป้าหมายความปลอดภัยที่เชิญชวนให้พิจารณานำไปสู่การปฏิบัติอย่างจิงจัง  ควบคู่กับการติดตามผล

       SIMPLE  คือ  อักษรย่อของหมวดหมู่ใหญ่ ๆ สำหรับ Patient  Safety  Goals  เพื่อความง่ายในการจดจำ  และรองรับเป้าหมายหรือความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะมีมาในอนาคต
                      S    =  Safe Surgery  (  Global  Patient  Safety  challenge )
                      I     =  Infection  Control  (Clean  Care  ใน  Patient  Safety  Challenge )
                      M    =  Medication  Safety
                      P    =  Patient  Care   Process
                      L    =  Line, Tube,  Catheter
                      E    =  Emergency  Response


Trigger tool คืออะไร

การใช้ trigger  tool เป็นการใช้เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งในการค้นหาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางด้านคลินิก ซึ่งคาดว่าระบบรายงานความอุบัติการณ์ทางด้านคลินิกอาจจะมีการรายงานที่ไม่ครบหรือยังขาดการรายงานหรือรายงานกันน้อยไม่ใคร่จะรายงานกัน


Trigger หรือ ตัวส่งสัญญาน หมายถึง ลักษณะ/สถานการณ์บางประการในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่มีแนวโน้ม/ความล่อแหลมที่จะเกิด AE บางอย่าง เช่น มีการใช้ anticoagulant ค่า INR มากกว่า 6 อาจจะทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร อย่างนี้เป็นต้น

AE คือ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ การบาดเจ็บ/อันตราย/ความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยที่เกิดเกี่ยวเนื่องจากการดูแลรักษา โดยไม่ได้เกิดจากการดำเนินโรคตามปกติ เป็นมุมมองด้านผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงๆกับผู้ป่วย เช่น การตกเลือดจากการผ่าตัด

ความหมายของ “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์” (Adverse Event)
WHOCC International Drug Monitoring ให้ความหมาย “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยา” (adverse drug event) ว่า เป็นเหตุการณ์อันตราย (noxious) หรือมิได้มุ่งหวังให้เกิดขึ้น (unintended) เนื่องจากการใช้ยาในคนเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ (การป้องกัน การวินิจฉัยโรค การรักษา)
IHI ให้ความหมายของคำว่า “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์” (adverse event) ว่าเป็นการบาดเจ็บหรืออันตรายที่เกี่ยวข้องหรือเกิดขึ้นจากการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือเป็นเหตุการณ์ที่มิได้มุ่งหวังให้เกิดขึ้น


จากการวัดความผิดพลั้ง มาสู่การวัดอันตราย
ความพยายามในการค้นหาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ผ่านมา มักจะมุ่งเน้นการรายงานความผิดพลั้งหรือความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ซึ่งจากการวิจัยพบว่ามีเพียงร้อยละ 10-20 ของความผิดพลั้งเท่านั้นที่ได้รับรายงาน และจากรายงานดังกล่าวนั้น ร้อยละ 90-95 มิได้ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แก่ผู้ป่วย จึงจำเป็นที่โรงพยาบาลจะต้องมองหาวิธีการที่ได้ผลกว่าในการค้นหาเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย และดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อลดอันตรายดังกล่าว

IHI ได้นำวิธีการแบ่งระดับความรุนแรงของความคลาดเคลื่อนทางยาที่ NCC MERP (National Coordinating Council for Medication Error Reporting and Prevention กำหนดขึ้นมาประยุกต์ใช้ โดยเลือกนับเฉพาะเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย (harm) ต่อผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นผลจากความผิดพลั้งหรือไม่ก็ตาม
อันตราย (harm) คือ การสูญเสียโครงสร้างหรือการสูญเสียการทำหน้าที่ของร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งอาจเป็นการสูญเสียชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ 
อันตรายในที่นี้จึงได้แก่หัวข้อ E, F, G, H, และ I ของ NCC MERP Index (ในที่นี้ได้ปรับความหมายของหัวข้อโดยตัดข้อความว่า “ความคลาดเคลื่อนที่นำมาสู่....” เนื่องจากเครื่องมือนี้ต้องการค้นหาอันตรายโดยไม่คำนึงว่าอันตรายนั้นจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนหรือไม่ก็ตาม)
Category E: อันตรายชั่วคราวต่อผู้ป่วย ต้องให้การรักษา
Category F: อันตรายชั่วคราวต่อผู้ป่วย ต้องให้นอนโรงพยาบาล หรือต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น
Category G: อันตรายถาวรต่อผู้ป่วย
Category H: อันตรายรุนแรงถึงขั้นต้องให้การรักษาเพื่อช่วยชีวิต (sustain life)
Category I: ผู้ป่วยเสียชีวิต

 
บัญชีรายการ Trigger
ก่อนที่จะทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยเพื่อหาเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทีมจำเป็นต้องตกลงร่วมกันในบัญชีรายการ trigger ให้เหมาะสมกับองค์กรและใช้บัญชีเดียวกันภายในองค์กร รวมทั้งใช้เกณฑ์เดียวกันในการตัดสินใจว่าอะไรเป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
......วิธีการ/เกณฑ์การใช้Trigger Tool......

  • ใช้วิธีการสุ่มเลือกเวชระเบียน โดยเลือกจากเวชระเบียนของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง วิธีการสุ่มอาจจะพิมพ์รายชื่อผู้ป่วยทุกรายที่รับไว้นอนหรือที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และเลือกผู้ป่วยทุกรายที่สิบ มาทบทวน เมื่อเลือกผู้ป่วยมาได้แล้ว ควรพิมพ์รายการมาโรงพยาบาลทุกครั้งของผู้ป่วยรายนั้นออกมา เพื่อตรวจสอบว่ามี readmission ซึ่งเป็น trigger ตัวหนึ่งหรือไม่
  • ผู้ทบทวนควรมองหาสิ่งต่อไปนี้:
    ก) การให้รหัสเมื่อจำหน่าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อน การวินิจฉัยโรคบางอย่าง)
    ข) บันทึกสรุปจำหน่าย (มองหาสรุปการประเมินและการรักษาที่เฉพาะเจาะจงระหว่างนอนโรงพยาบาล)
    ค) คำสั่งการใช้ยาของแพทย์และบันทึกการให้ยา (MAR)
    ง) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    จ) บันทึกการผ่าตัด
    ฉ) บันทึกทางการพยาบาล
    ช) progress note ของแพทย์
    ซ) ถ้ามีเวลาพอ อาจจะดูส่วนอื่นของเวชระเบีย เช่น บันทึกการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การปรึกษา
  • Global Trigger Tool มีการจัดกลุ่ม trigger เป็น 6 modules ตามลักษณะเฉพาะของการดูแลหรือหน่วยงาน ได้แก่ care module, medication module, surgical module, intensive care module, perinatal module, emergency department module ซึ่งผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการทบทวนเพื่อหา trigger ใน care module และ medication module ส่วน module อื่นๆ นั้นให้เลือกใช้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ทบทวน สำหรับ intensive care module นั้นควรใช้ทบทวนผู้ป่วยที่ต้องเข้า ICU ไม่ว่าจะเป็นเวลาเท่าใดก็ตาม
  • การพบ trigger คือการพบว่ามีเหตุการณ์ที่เป็น trigger แต่มิได้หมายความว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เสมอไป เป็นแต่เพียงสิ่งบอกเหตุว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น (trigger บางตัวก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในตัวเองด้วย) เมื่อพบว่ามี trigger ให้ทบทวนเวชระเบียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ trigger ตัวนั้นเพื่อดูว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เมื่อพบว่า INR>6 ผู้ทบทวนควรมองหาว่ามีเลือดออก, Hb ลดลง, hematoma หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่เป็นผลมาจาก over-anticoagulation หรือไม่ เป้าหมายมิใช่อยู่ที่การค้นหาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทั้งหมดที่เป็นไปได้ การออกแบบการสุ่มเลือกเวชระเบียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ตัวอย่างเพียงพอและน่าเชื่อถือได้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบระบบงานที่ปลอดภัยของโรงพยาบาล
  • เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ควรจัดหัวข้อให้ตามประเภทและระดับความรุนแรงของอันตรายที่เกิดขึ้น และนำมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัย

LEAN  แปลว่าผอม เพรียวบาง  แล้วเกี่ยวอะไรกับ HA?? 

จริงๆ แล้ว LEAN เป็นการลดความสูญเปล่า ทำให้ขั้นตอนสั้นลง  เรากำลังจะนำ LEAN concept มาใช้เพื่อลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยที่ OPD...  จะทำยังไง?  จะลดตรงไหน?  ลดได้จริงหรือเปล่า?  ลองศึกษาเอกสารความรู้กันดูก่อน คลิกที่นี่

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  64,079
Today:  6
PageView/Month:  206

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com